สิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับดอกสว่าน
September 16, 2024การดูแลรักษาน้ำมันตัดกลึงโลหะ
September 18, 2024งานเจาะ (Drill)
การเจาะเป็นการตัดเฉือนโลหะประเภทหนึ่ง ต่างจากการปั๊มขึ้นรูป การ EDM หรือการตัดเฉือนด้วยเลเซอร์ การเจาะด้วยสว่านถึงแม้ว่าจะไม่ใช่กระบวนการตัดเฉือนขั้นสูง เช่น การตัดด้วยน้ำแรงดันสูง แต่การเจาะด้วยสว่านก็เป็นวิธีการที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย การเจาะด้วยดอกสว่านจะมีลักษณะต่างไปจากการกลึง หรือการกัดดังนี้
เลือกอ่านประเด็นที่สนใจ
- สิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับดอกสว่าน
- การแบ่งประเภทตามลักษณะของด้ามจับ
- แบ่งตามการออกแบบภาพตัดของแกนดอกสว่าน
- การแบ่งประเภทตามความยาวของดอกสว่าน
- การแบ่งประเภทของดอกสว่านตามลักษณะการใช้งาน
ลักษณะของดอกสว่าน
1. การตัดเฉือนจะใช้คมตัดหรือมุมจิกที่อยู่ส่วนปลายของดอกสว่าน และห่างออกไปจากหัวจับ (Shank Holder) ทำให้การเจาะมีประเด็นข้อด้อยเรื่องความแข็งแรงของดอกสว่าน
2. ดอกสว่านโดยทั่วไปจะมีสองคมตัดและสองร่องคมเลื้อย ในการพาเศษตัดออกสู่ภายนอก เป็นผลให้ความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือข้อผิดพลาดส่วนใหญ่จะมาจากเศษตัด
3. การตัดเฉือนจะเกิดขึ้นบริเวณส่วนปลายของรูเจาะและเกิดเศษตัดขึ้น การหล่อเย็นเพื่อระบายความร้อนในบริเวณที่เกิดการตัดเฉือนจะทำได้ยาก เพราะเศษเจาะและลักษณะการทำงานจะขัดขวางการฉีดน้ำหล่อเย็นไม่ให้เข้าสู่บริเวณคมตัดได้ง่าย
4. รูปร่างของคมตัด (ระหว่างมุมคายกับมุมหลบ) จากจุดศูนย์กลางไปจนถึงขอบมุมนอกของดอกสว่านจะแตกต่างกัน อีกทั้งค่าความเร็วตัดที่เกิดขึ้นก็จะต่างกันด้วย ทำให้เงื่อนไขในการตัดเฉือนเปลี่ยนไปหรือไม่เหมือนกัน ซึ่งจะขอกล่าวถึงรายละเอียดต่อไป
ชนิดของดอกสว่าน
ดอกสว่านมีหลายชนิดซึ่งสามารถแบ่งได้ตามประเภทต่าง ๆ ดังนี้
1. การแบ่งประเภทตามลักษณะของด้ามจับ (Shank Type)
ด้ามจับของสว่านมีทั้งแบบด้านตรงหรือมอร์สเตเปอร์ (Morse Taper) ขึ้นอยู่กับหัวจับสว่านที่ใช้งาน
ประเภท | ลักษณะของดอกสว่าน | Drill Type (Reference) |
---|---|---|
ดอกสว่านด้ามจับตรง | เป็นดอกสว่านด้ามจับทรงกระบอก (ตามมาตรฐาน(JIS B 4301, JIS B 4305 และ JIS B 4307)). | Straight Shank Drill, Parallel Shank Drill |
ดอกสว่านก้านตรงมีลิ่มส่วนปลาย | เป็นสว่านก้านตรงแต่บริเวณส่วนปลายมีลิ่มพื้นเรียบ เพื่อช่วยส่งแรงบิด | Straight Shank Drill with Tenon Drive |
ดอกสว่านด้ามตรงที่ส่วนปลายเป็นเกลียว | เป็นสว่านก้านตรงแต่มีการทำเกลียวไว้ส่วนปลาย | Threaded Straight Shank Drill |
ดอกสว่านด้ามมอร์สเตเปอร์ | เป็นดอกสว่านที่ส่วนด้ามเป็นมอร์สเตเปอร์ (JIS B 4003, JIS B 4302 and JIS B 4306) | Morse Taper Shank Drill |
ดอกสว่านด้ามมอร์สเตเปอร์ที่มีเกลียวใน | เป็นสว่านด้ามมอร์สเตเปอร์ส่วนปลายทำเกลียวใน | Threaded Morse Taper Shank Drill |
ดอกสว่านด้ามจับแบบงานกัด | เป็นดอกสว่านที่ออกแบบขนาดของด้ามจับ ให้มีขนาดแบบเดียวกับดอกกัด (End Mill) (ตามมาตรฐาน JIS B 4314) | Drill with End Mill Cylindrical Shank |
ดอกสว่านด้ามหกเหลี่ยม | ส่วนจับของด้ามจับจะเป็นหกเหลี่ยม ตามหัวจับดอกสว่านที่ใช้งาน | Hexagonal Shank Drill |
2. แบ่งตามการออกแบบภาพตัดของแกนดอกสว่าน
ภาพตัดขวางของลำตัวดอกสว่าน จะออกแบบรูปร่างที่แตกต่างกันไปตามการใช้งานเฉพาะทาง บางประเภทอาจจะมีรูน้ำหล่อเย็น หรือรูน้ำมันอยู่ภายในลำตัวของออกสว่าน
ประเภท | ลักษณะของดอกสว่าน | Drill Type (Reference) |
---|---|---|
ดอกสว่านที่มีรูน้ำภายใน | ดอกสว่านที่มีรูน้ำมันอยู่ภายใน | Drill with Oil Hole |
ดอกสว่านร่องซ้อน | เป็นดอกสว่านที่แต่ละสันคมเลื้อย จะมีร่องคมเลื้อยตั้งแต่สองร่องขึ้นไป คือจะมีร่องเล็กเพิ่มขึ้นอีกร่อง | Subland Drill |
ดอกสว่านมาจิ้นคู่ | ที่ผิวหลบด้านหลังของคมตัดจะมีสันมาจิ้น หรือผิวประคองขนาดของรูคู่ | Double Margin Drill |
สว่านแบน | เป็นสว่านที่มีใบตัดเป็นแผ่นตรง | Flat Drill |
สว่านทรงครึ่งวงกลม | เป็นสว่านรูปทรงครึ่งวงกลมคล้ายพระจันทร์เสี้ยว และมีคมตัดเดียว หมายเหตุ: โดยทั่วไปใช้กับการเจาะทองเหลือง | Gun Barrel Drill |
ดอกสว่านร่องเรียบ | เป็นสว่านที่มีแกนหนา (แกนกลางหนา) ร่องคายเศษแคบ หมายเหตุ: ปกติใช้กับการเจาะรูลึก | |
สว่านขัดผิว | เป็นดอกสว่านฟันตรง ในแต่ละฟันจะมีผิวแลนด์สองผิว (ผิวที่สัมผัสกับรูเจาะ) หมายเหตุ: โดยทั่วไปใช้กับงานที่ต้องการผิวสำเร็จที่ดีมากหรืองานเจาะความละเอียดสูง | Burnish Drill |
3. การแบ่งประเภทตามความยาวของดอกสว่าน
เป็นการแบ่งประเภทของดอกสว่านตามความยาวทั่วไป ดอกสว่านชนิดยาว และดอกสว่านคอสั้น โดยขึ้นอยู่กับความยาวทั้งตัว ร่องเลื้อยของดอกสว่าน และความลึกของรูเจาะเป็นเกณฑ์ ซึ่งควรเลือกใช้ตามความเหมาะสม เพราะการเลือกใช้ดอกสว่านที่มีความยาวมากเกินไป อาจจะทำให้ดอกสว่านมีอายุการใช้งานสั้นลงได้
ประเภท | ลักษณะของดอกสว่าน | Drill Type (Reference) |
---|---|---|
ดอกสว่านความยาวปกติ | ดอกสว่านที่มีความยาวทั้งตัวและความยาวร่องคมเลื้อย ชนิดที่ใช้งานทั่วไป หมายเหตุ: มีทั้งแบบด้ามจับตรงและด้ามจับมอร์สเตเปอร์ (มาตราฐาน JIS B 4301 และ JIS B 4302). | Regular length Drill, Jobber Drill |
ดอกสว่านชนิดยาว | เป็นดอกสว่านที่มีความยาวทั้งตัวยาวกว่าสว่านทั่วไป หมายเหตุ: มีทั้งแบบด้ามจับตรงและด้ามจับมอร์สเตเปอร์ (มาตราฐาน JIS B 4305 และ JIS B 4306). | Long Drill |
ดอกสว่านคอสั้น | เป็นดอกสว่านที่ความยาวทั้งตัวสั้นกว่าสว่านทั่วไป หมายเหตุ: มีทั้งแบบด้ามจับตรงและด้ามจับมอร์สเตเปอร์ (มาตราฐาน JIS B 4307) | Stub Drill |
4. การแบ่งประเภทของดอกสว่านตามลักษณะการใช้งาน
การนำดอกสว่านไปใช้งาน ไม่ได้มีเพียงแค่การนำไปใช้งานทั่วไป ยังมีการออกแบบให้นำไปใช้งานเฉพาะทางได้อีกด้วย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานบางประเภทอยู่
ประเภท | ลักษณะของดอกสว่าน | Drill Type (Reference) |
---|---|---|
ดอกสว่านพิเวิท | สว่านที่ใช้เจาะรูเล็ก ๆ ด้ามจับเป็นแบบด้ามงานกัด หรือจะโตกว่าลำตัวสว่าน | Pivot Drill |
ดอกสว่านชนิดคอร์ | ใช้ในงานที่ต้องการความเที่ยงตรงของรูเจาะสูง เป็นดอกสว่านที่ไม่มีคมตัดตรงกลางของดอกสว่าน การใช้งานจึงต้องมีรูนำเจาะไว้ก่อน และภายหลังการเจาะจะมีการรีมเมอร์ต่อไป หมายเหตุ: โดยทั่วไปจะมีทั้งแบบสามฟันและสี่ฟัน ชนิดสี่ฟัน ชนิดสามฟัน | Core Drill |
ดอกเจาะยันศูนย์ | เป็นดอกสว่านที่ใช้เจาะรูยันศูนย์ชิ้นส่วนงานเครื่องมือกล หมายเหตุ: มีแบบชนิด A, B, C และ R (ตามมาตรฐาน JIS B 4304) Form A Form B Form C Form R | Centre Drill |
ดอกสว่านนำเจาะ | เป็นดอกสว่านที่ใช้นำเจาะสว่านทั่วไป เพื่อให้ตำแหน่งของรูเจาะมีความเที่ยงตรง สามารถนำไปใช้งานลบมุม (Chamfering)ได้ (มาตรฐาน JIS B 4308) | Starting Drill, Spot Drill |
ดอกผายปากรู (Countersink Drill) | ดอกสว่านที่ส่วนปลายเป็นทรงกลวย ใช้ในการลบคม หรือผายปากรูเหล็กแผ่น หมายเหตุ: การใช้งานทั่วไป จะมีแบบ 2, 3, และ 4 ร่อง | Countersink |
ดอกกันดริลล์ (Gun Drill) | เป็นดอกสว่านที่มีทั้งแบบร่องเดี่ยวและร่องคู่ ใช้ในการเจาะรูลึก ๆ | Gun Drill |
สเปดดริลล์ (Spade Drill) | ส่วนของคมตัดจะเป็นแผ่นมีดบาง ๆ นำมาจับยึดเข้ากับตัวด้าม ใช้ในการเจาะรูขนาดใหญ่ | Spade Drill |
ดอกสว่านเตเปอร์ | เป็นดอกสว่านสำหรับเจาะรูเรียว เพื่อใช้กับสลักพินเตเปอร์ | Taper-Pin Drill |
ดอกเจาะทำเกลียว | ดอกสว่านที่สามารถทำงานเจาะ และงานทำเกลียวได้ในขั้นตอนเดียว | Drill Tap |
ดอกสว่านรีมเมอร์ | เป็นดอกเจาะที่สามารถทำงานเจาะรูได้พร้อมงานรีมเมอร์ ในขั้นตอนเดียว | Drill Reamer |
สเต็ปดริลล์ (Step Drill) | เป็นดอกที่สามารถเจาะรูได้สองขนาดหรือมากกว่า ในการเจาะรูเพียงครั้งเดียว หมายเหตุ: ดอกสเต็ปดริลล์ มีทั้งแบบร่องเลื้อยเดี่ยว และร่องเลื้อยคู่ ร่องเลื้อยเดี่ยว ร่องเลื้อยคู่ | – |
ดอกเจาะ 3 ฟัน (3 -Flute Drill) | ดอกสว่าน 3 ฟัน เป็นดอกเจาะที่เจาะรูได้เที่ยงตรงกว่าดอกสว่านแบบ 2 ฟัน และยังทำงานได้เร็วขึ้นด้วย | 3-Flute Drill |
ดอกสว่านสำหรับเครื่องเจาะไฟฟ้า | ด้ามจับจะมีรูปทรงสามเหลี่ยมหรือมีสามร่อง เพื่อป้องกันการหมุนตามในขณะทำการเจาะรู โดยทั่วไปจะใช้งานกับสว่านไฟฟ้า | |
ดอกสว่านเจาะวัสดุแผ่นบาง | เป็นดอกสว่านที่มีลักษณะแท่งเทียน ตรงกลางมีติ่งเล็ก ๆ ใช้ในการเจาะรูวัสดุแผ่นบาง | |
ดอกสว่านเจาะงานเฟรมโครงสร้าง | เป็นดอกสว่านที่ออกแบบมาสำหรับรูเจาะเฟรมโครงสร้างต่าง ๆ เช่น สะพาน |