
ZEISS T-SCAN hawk 2 : เครื่องสแกน 3 มิติความแม่นยำสูง ที่เปลี่ยนการทำงานของคุณให้ง่ายและแม่นยำยิ่งขึ้น
April 2, 2025
การเลือกน้ำมันตัดกลึงแบบน้ำมันล้วน (Neat Cutting Oil) เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพของการผลิต ประสิทธิภาพการทำงาน และอายุการใช้งานของเครื่องจักร โดยเฉพาะกับเครื่องกลึงอัตโนมัติ (Automatic Lathe) และเครื่องกัดทั่วไป (Machining Center)
ในบทความนี้ เราจะลงลึกถึงปัจจัยทางเทคนิคที่ควรพิจารณาเมื่อต้องเลือกใช้น้ำมันตัดกลึงแบบน้ำมันล้วนให้เหมาะสม
เลือกอ่านประเด็นที่สนใจ
- บทบาทของน้ำมันตัดกลึงแบบน้ำมันล้วนในกระบวนการตัดเฉือน
- ปัจจัยในการเลือกน้ำมันตัดกลึงแบบน้ำมันล้วน
- คุณสมบัติของน้ำมันตัดกลึงที่ควรพิจารณา
บทบาทของน้ำมันตัดกลึงแบบน้ำมันล้วนในกระบวนการตัดเฉือน
น้ำมันตัดกลึงแบบน้ำมันล้วนทำหน้าที่เรียงลำดับตามความสำคัญ 3 ประการในกระบวนการตัดเฉือนดังนี้
- การหล่อลื่น (Lubrication): น้ำมันประเภทนี้ช่วยลดแรงเสียดทานระหว่างเครื่องมือตัดกับชิ้นงานได้สูง จึงช่วยลดการสึกหรอของมีดตัดได้มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันประเภทอื่น
- การพาเศษโลหะออกจากจุดตัด (Chip Flushing): ป้องกันการแตกเสียหายของเครื่องมือตัด ลดสะสมของเศษโลหะ ลดโอกาสเกิดขอบเศษติด (Built-up Edge: BUE)
- การระบายความร้อน (Cooling): ควบคุมอุณหภูมิบริเวณจุดตัด ลดความร้อนสะสมที่อาจทำให้คมตัดเสียหาย
ปัจจัยในการเลือกน้ำมันตัดกลึงแบบน้ำมันล้วน
1. ประเภทของเครื่องจักร
เครื่องกลึงอัตโนมัติ (Automatic Lathe)
- ใช้กับกระบวนการตัดเฉือนที่ต่อเนื่อง และต้องการให้น้ำมันไหลผ่านช่วยการหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆที่เคลื่อนที่ได้ดี
- ควรเลือกน้ำมันที่มีความหนืดต่ำ-ปานกลาง เพื่อให้สามารถระบายผ่านระบบปั๊มแรงดันสูงได้ และกระจายตัวได้ง่าย
- ควรมีสารป้องกันหรือลดการเกิดฟอง เพื่อลดปัญหาการเกิดของฟองอากาศ และแรงดันตก
เครื่องกัดทั่วไป (Machining Center)
- เลือกน้ำมันที่รองรับงานกัด เจาะ ต๊าปเกลียวที่ต้องการแรงตัด แรงบิดตัวสูง และการระบายความร้อนได้ดี
- ควรเลือกน้ำมันที่มีสาร Extreme Pressure (EP) และสารเพิ่มความหล่อลื่น (Boundary Lubrication Additives)
- ความหนืดของน้ำมันอยู่ในช่วงปานกลาง ที่นอกจากจะเหมาะกับงานประเภทนี้แล้วยังสามารถเคลือบผิวเครื่องมือตัดได้ดี
2. วัสดุที่ต้องการตัดกลึง
เหล็กกล้า (Steel, Carbon Steel, Alloy Steel)
- ควรเลือกน้ำมันที่มี Extreme Pressure (EP) Additives เพื่อช่วยลดการสึกหรอของเครื่องมือตัด
- ควรมีสารป้องกันการพอกของเศษที่คมตัด (Built-up Edge: BUE) ซึ่งช่วยให้ผิวงานเรียบขึ้นและลดการสึกหรอของมีดตัด
- อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ BUE ได้ที่: แก้ปัญหาการพอกของเศษวัสดุที่คมตัดด้วย NO GC22 SMP น้ำมันตัดกลึงโลหะจาก LUBRICAN
สเตนเลส (Stainless Steel)
- เป็นวัสดุที่มีแนวโน้มเกิดการเชื่อมติดของเศษตัดกับมีดตัดสูง
- ควรใช้น้ำมันที่มีซัลเฟอร์ชนิดทำปฏิกิริยา (Active Sulfur) เพื่อช่วยลดแรงเสียดทาน
- ควรมีสารป้องกันการเกิดออกซิเดชัน (Anti-Oxidation) เพื่อลดการเสื่อมสภาพของน้ำมัน
ทองเหลือง และทองแดง (Brass & Copper)
- หลีกเลี่ยงน้ำมันที่มีซัลเฟอร์และคลอรีน ซึ่งอาจทำให้เกิดคราบเปลี่ยนสีขึ้นที่ชิ้นงานได้
3. คุณสมบัติของน้ำมันตัดกลึงที่ควรพิจารณา
3.1 ความหนืด (Viscosity)
เลือกความหนืดที่เหมาะสมกับเครื่องจักรและลักษณะการตัดเฉือน เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: น้ำมันต๊าปเกลียว NO TP Series น้ำมันตัดกลึงสำหรับงานต๊าปเกลียว ช่วยยืดอายุการใช้งานของดอกต๊าปให้ยาวนานยิ่งขึ้น
3.2 จุดวาบไฟ (Flash Point)
แนะนำให้เลือกน้ำมันที่มีจุดวาบไฟสูงกว่า 180°C โดยเฉพาะงานตัดเฉือนที่เกิดความร้อนสะสมสูง เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดไฟไหม้
3.3 สารเติมแต่ง (Additives)
- Extreme Pressure (EP) Additives: ป้องกันการสึกหรอของเครื่องมือ
- Anti-Mist Additives: ลดการเกิดละอองน้ำมันในอากาศ เพื่อสุขอนามัยที่ดีของผู้ปฏิบัติงาน
- Anti-Foam Additives: ป้องกันการเกิดฟองที่อาจส่งผลต่อการหล่อลื่น และการทำงาน

LUBRICAN เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทีมวิศวกร Factory Max และผู้ผลิตสารหล่อลื่นชั้นนำจากหลายประเทศร่วมมือกันออกแบบ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อเย็น น้ำมันสปาร์ค EDM และเคมีอุตสาหกรรมที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมและลักษณะการใช้งานในประเทศไทยโดยเฉพาะ
หากท่านต้องการคำปรึกษาหรือคำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกใช้น้ำมันในอุตสาหกรรม บริษัท แฟ็คทอรี่ แม๊กซ์ ยินดีให้บริการครับ